ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน

ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนชูวิชาราษฎร์  ตั้งอยู่บนถนน เจดีย์ยุทธหัตถี - สามเงา  ตำบลเกาะตะเภา  อำเภอ บ้านตาก จังหวัดตาก  รหัสไปรษณีย์ ๖๓๑๒๐  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๑ โทรศัพท์ ๐๕๕-๕๕๐๑๙๗ โทรสาร ๐๕๕-๕๕๐๑๙๗  

e-mail: Orachorn _Pr@hotmail.com  website www.chuvichara.takesa.go.th  เปิดสอนตั้งแต่ระดับ อนุบาล   ๑  ถึงระดับ ประถมศึกษาปีที่ ๖    มีเขตพื้นที่บริการ ๓  หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๔,๕,๖ ตำบลเกาะตะเภา

ประวัติย่อของโรงเรียนชูวิชาราษฎร์

          โรงเรียนชูวิชาราษฎร์  เดิมชื่อโรงเรียนวัดวังหม้อ  ตั้งอยู่ในวัดวังหม้อ หมู่ที่ ๔ ตำบลเกาะตะเภา  อำเภอบ้านตาก  จังหวัดตาก  ก่อตั้งโดยพระครูบุญชู  สุนันทะ (พระครูศรีรัตโนภาส) อดีตเจ้าคณะอำเภอบ้านตาก เจ้าอาวาสวัดวังหม้อร่วมกับนายแก้ว  มาเกิด กำนันตำบลเกาะตะเภาและราษฎร ได้ทำการเปิดสอนเมื่อวันที่  ๓  กรกฎาคม  ๒๔๕๗  อาศัยศาลาวัดเป็นที่เล่าเรียน  มีครูทำการสอน  ๑  คน  คือนายลือ  มาเกิด  มีนักเรียน  ๓๖  คน โรงเรียนแห่งนี้ได้มีการพัฒนาการขึ้นมาตามลำดับ  ดังนี้

.. ๒๔๗๕  นายโต๊ะ ปรียารัตน์  พร้อมด้วยคณะครู  พระครูบุญชู  สนันทะ และราษฎรได้ทำการฉลองอาคารเรียนและเปิดป้ายชื่อโรงเรียนใหม่ว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลเกาะตะเภา ๑” (ชูวิชาราษฎร์โดยมีนายตัง  เราเจริญ  นายอำเภอบ้านตากมาเป็นประธานในพิธี พ.. ๒๔๘๑ นายโต๊ะ  ปรียารัตน์  ได้ขอความร่วมมือจากพระครูบุญชู  สุนันทะ  สร้างอาคารเรียน  อีกหนึ่งหลัง ขนาด ๘ x ๑๐ เมตร  มุ่งกระเบื้องดินเผา  เพราะห้องเรียนไม่พอกับจำนวนนักเรียน

.. ๒๔๙๗ นายคำรณ  มูลวงษ์ ครูใหญ่และคณะครู  นายนิล  ริดจันทร์  กำนันตำบลเกาะตะเภาเห็นสภาพอาคารเรียนเก่าทรุดโทรมมาก จึงได้ร่วมมือกับกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านและราษฎร ช่วยกันสละทรัพย์และแรงงานวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างอาคารเรียน เป็นเงิน ๑๕,๘๗๕.๗๕ บาท

.. ๒๔๙๙  นายคำรณ  มูลวงษ์  ครูใหญ่และคณะครู  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้านและราษฎร ได้รื้ออาคารเรียนทั้ง ๒ หลัง  เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างอาคารใหม่ ขณะนั้นต้องให้นักเรียนต้องไปเรียนที่ศาลาวัดอีกครั้งหนึ่ง  ในปีที่ทำการปลูกสร้าง ทางราชการได้ให้งบประมาณสมทบเป็นเงิน ๒๒,๑๐๐ บาท โดยให้นายตุ่น  วีวงษ์ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ ข ขนาด ๘x๓๒ เมตร  จำนวน ๔ ห้องเรียน ในการก่อสร้างอาคารเรียนครั้งนี้ทางราชการ  ทางราชการได้มีคำสั่งให้  นายปรีชา  มั่งเชียง ครูใหญ่โรงเรียนบ้านดงยางมาช่วยราชการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารเรียนในครั้งนี้ด้วย  รวมเป็นเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๓๗,๙๗๖.๗๕ บาท

.. ๒๕๑๔ ทางราชการได้แต่งตั้งให้ นายปรีชา  มั่งเชียง ครูใหญ่โรงเรียนบ้านแม่พะยวบย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนแห่งนี้ มีข้าราชการครู จำนวน ๓ คน  มีนักเรียน ๑๐๙ คน ได้รับงบประมาณจากทางราชการเป็นเงิน ๑๔๐,๐๐๐ บาท มาก่อสร้างอาคารเรียนอีก ๑ หลัง อาคารเรียนแบบ ป. ๑ ฉ. ขนาด ๘.๕๐ x ๓๖ เมตร จำนวน ๔ ห้องเรียน อาคารเรียนใหม่นี้ไม่ได้สร้างในที่แห่งเดิม   เพราะมีเนื้อที่คับแคบ มีเพียง ๓ งาน จึงได้มีการปลูกสร้างในที่แห่งใหม่  ซึ่งเป็นเนื้อที่ของวัดร้าง  ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๕ ตำบลเกาะตะเภา  โดยความเห็นชอบของนายปรีชา  มั่งเชียง ครูใหญ่  ได้ออกสำรวจเห็นว่าเป็นเนื้อที่กว้างขวางเหมาะที่จะสร้างอาคารเรียนได้และเป็นที่วัดร้าง  จึงได้เสนอเรื่องไปยังอำเภอ  นายทิพย์  โพธิสุวรรณ นายอำเภอบ้านตากสมัยนั้นเห็นชอบด้วย จึงได้อนุญาตให้ก่อสร้างอาคารเรียนในสถานที่ดังกล่าวได้  เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงได้ย้ายนักเรียนมาเรียนในสถานที่ก่อสร้างอาคารเรียนใหม่  เมื่อ วันที่ ๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๑๕

.. ๒๕๑๗ นายปรีชา  มั่งเชียง  ได้ร่วมกับนายอำนวย  น้อยเชื้อเวียง นายอำเภอบ้านตากได้ของบประมาณจาก (...) ... กลาง เป็นเงิน  ๓๐,๐๐๐ บาท มาทำการรื้อถอนอาคารเรียนหลังเดิมมาปลูกสร้างในสถานที่แห่งใหม่ ดัดรูปทรงเป็นอาคารทรงไทย ขนาด ๘ x ๒๕ เมตร จำนวน ๓ ห้องเรียน และในปีเดียวกันได้รับงบประมาณมาก่อสร้างบ้านพักครู จำนวน ๑ หลัง เป็นเงิน  ๔๙,๖๐๐ บาท

.. ๒๕๑๘  ได้รับงบประมาณมาต่อเติมอาคารเรียน แบบ ป.๑ ฉ อีกจำนวน ๒ ห้องเรียน ได้รับงบประมาณเป็นเงินทั้งสิ้น ๘๔,๐๐๐  บาท และในปีเดียวกันได้ขอเปิดสอนระดับประถมปลาย ชั้น ป. ๕ ทางราชการได้อนุญาตให้เปิดทำการสอนได้ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๑๘ เป็นต้นมา

คำขวัญของโรงเรียน

การเรียนดี  กีฬาเด่น   เน้นวินัย     ใฝ่คุณธรรม

วัตถุประสงค์ของโรงเรียน

(๑) ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุตามข้อกำหนดของหลักสูตรและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและท้องถิ่น   โดยการใช้แผนการสอน  จัดกิจกรรการเรียนการสอน   และการประเมินผล  ตามสภาพแท้จริง

(๒)  พัฒนาการเรียนการสอน  ให้สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนรอบด้าน โดยจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  สนองความแตกต่างในความสามารถ  ความถนัดและความสนใจทางการเรียนของผู้เรียนแต่ละคน  ส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง  และการให้ประสบการณ์การเรียนที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง  ใช้สื่อการเรียนการสอนและเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยการเรียนรู้และพัฒนาของผู้เรียนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคม                             

(๓)  พัฒนาโรงเรียนให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม   โดยการจัดบรรยากาศภายนอกและภายในอาคารเรียนและบริเวณโรงเรียนให้ร่มรื่น  สะอาด  สวยงาม  เอื้อต่อสุขภาพกาย  สุขภาพจิต  ต่อการใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้และเกิดความปลอดภัย

(๔)  ส่งเสริม  สนับสนุน   บุคลากรของโรงเรียนให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และมีความก้าวหน้าในอาชีพ  โดยพัฒนาให้มีจิตสำนึก  อุดมการณ์  และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการปฏิบัติงาน  เป็นผู้ใฝ่รู้  สามารถพัฒนาตนเอง  และวิชาชีพ  ให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม  เสียสละ  อุทิศตนในการปฏิบัติงาน  มีขวัญ  กำลังใจ

(๕)  พัฒนาระบบการบริหารโรงเรียนสู่ความเป็นมาตรฐาน  โดยใช้กระบวนการบริหารและเทคนิคการบริหารที่ทันสมัย  มีการใช้แผนเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารงานมีการกำกับ  ติดตาม  และนิเทศอย่างเป็นระบบ

(๖)  เสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารสำนักงาน   โดยการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ  งานสารบรรณงานการเงินและพัสดุ  การจัดทำเอกสาร  และการใช้เทคโนโลยี   เพื่อการติดต่อสื่อสาร

(๗)  จัดให้มีการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โดยใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย  ทั้งโดยเอกสาร การประชุม  การมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับชุมชน  การประชาสัมพันธ์  โดยใช้นักเรียนเป็นสื่อจากผลคุณภาพการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ  ของงานกิจกรรมนักเรียน